Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

       
 

ส่วนของพระราชบัญญัติการบัญชี และ วิชาชีพบัญชี
     สรุปความเป็นมาของ พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543
1. ความเป็นมาของการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย
     กฎหมายว่าด้วยการบัญชีฉบับปัจจุบัน คือ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 ได้ใช้ บังคับมาตั้งแต่ปี 2515 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 27 ปี
จึงมีหลักการเกี่ยวกับการทำบัญชีหลายประการ ที่ยังไม่สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางการบัญชี และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการค้า
ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเพื่อให้มีการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้เป็นไปตามความเป็นจริงได้มาตรฐาน การบัญชี และสอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากล
ซึ่งจะทำให้กิจการและบุคคลภายนอกได้ใช้ข้อมูลทางการ บัญชีเพื่อประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างมั่นใจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการเสนอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการ บัญชีมาเป็นลำดับนับแต่ปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันกฎหมายดังกล่าว
ได้ผ่านความเห็นชอบของ รัฐสภาแล้ว เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2543 และนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2543
ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2543 เป็นต้นไป สรุปการดำเนินการแก้ไขกฎหมาย ได้ ดังนี้
    - คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2535 อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ การบัญชี พ.ศ. .... และให้ส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ทำหน้าที่รัฐสภาพิจารณา แต่โดยที่สภาฯ ได้สิ้นอายุ ลง ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงตกไป
    - คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2537 เห็นชอบตามมติของคณะกรรมการ รัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจซึ่งเห็นควรรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ
การบัญชี พ.ศ. .... และส่งให้สำนักงาน คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาให้สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติสภานักบัญชี พ.ศ. .... ในคราวประชุม
คณะกรรมการกลั่นกรองฝ่ายเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2540 กระทรวงพาณิชย์ได้ขอถอนเรื่องนี้กลับไปพิจารณาทบทวนอีกครั้งหนึ่ง โดยได้จัดให้
มีการประชุมชี้แจง และรับฟังข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2540 เพื่อประกอบการพิจารณา เสนอแก้ไขกฎหมายให้เกิด
ประโยชน์สูงสุดต่อไป
    - คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2540 อนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรอง ฝ่ายเศรษฐกิจเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. ....
ที่กระทรวงพาณิชย์แก้ไขเพิ่มเติม และส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตรวจ
พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว โดยได้ปรับปรุง แก้ไขถ้อยคำใหม่เล็กน้อย และกระทรวงพาณิชย์ได้ยืนยันให้นำเสนอร่างกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรี
เพื่อพิจารณา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2541 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ตรวจพิจารณาแล้วตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอและให้ส่ง คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป คณะรัฐมนตรีได้มีมติ
เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2541 รับทราบมติของคณะกรรมการประสานงาน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งให้เสนอร่างพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. ....
ต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อ พิจารณา โดยก่อนส่งสภาผู้แทนราษฎรให้แก้ไขมาตรา 5 วรรคสอง และเพิ่มมาตรา 27

2. สาระสำคัญของกฎหมาย
    2.1 แก้ไขหลักการจากเดิมที่กำหนดให้ธุรกิจทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจ ตามประเภทที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดต้องจัดทำบัญชี
           เป็นกำหนดให้เฉพาะนิติบุคคลทั้งที่จดทะเบียน ตามกฎหมายไทยและต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยและกิจการร่วมค้าตามประมวล
           รัษฎากรเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ส่วนบุคคลธรรมดาและห้างหุ้นส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียนจะต้องจัดทำบัญชีต่อเมื่อรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของ
           คณะรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี
    2.2 กำหนดให้ผู้ทำบัญชีต้องเข้ามามีส่วนรับผิดชอบในการจัดทำบัญชีของธุรกิจโดยแบ่งแยก หน้าที่และความรับผิดชอบระหว่างผู้ทำบัญชีและผู้มี
           หน้าที่จัดทำบัญชีให้ชัดเจน กล่าวคือ
           2.2.1 กำหนดความรับผิดชอบของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ในการจัดให้มีการทำบัญชีและงบการเงินให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด และมีหน้าที่
                     ต้องจัดส่งเอกสารประกอบการลงบัญชีให้ผู้ทำบัญชีเพื่อจัดทำบัญชีให้ถูกต้องตามความเป็นจริง และตามมาตรฐานการบัญชีและยื่นงบการเงิน
                     ที่ได้รับการตรวจสอบและให้ความเห็นของผู้สอบบัญชี รับอนุญาตแล้ว รวมทั้ง จัดให้มีผู้ทำบัญชีที่มีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจ
                     การค้าประกาศกำหนด
           2.2.2 ผู้ทำบัญชี (หมายถึงผู้รับผิดชอบในการทำบัญชีของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีไม่ว่าจะได้ กระทำในฐานะเป็นลูกจ้างของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีหรือไม่
                     ซึ่งได้แก่พนักงานบัญชีของบริษัท หรือ ผู้รับจ้างทำบัญชีอิสระหรือสำนักงานรับทำบัญชี) ต้องจัดทำบัญชีให้เป็นไปตามความจริงตามมาตรฐาน
                     การบัญชี โดยมีเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนรายการให้ถูกต้องครบถ้วน
    2.3 กำหนดให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชรวมทั้งกำหนดข้อยกเว้นให้ผู้มี หน้าที่จัดทำบัญชี หรือผู้ทำบัญชี
           ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือส่วนใดส่วนหนึ่ง
    2.4 กำหนดยกเว้นให้งบการเงินของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีที่เป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ที่มี ทุน สินทรัพย์หรือรายได้ ไม่เกินที่กำหนดในกฎกระทรวง
           ไม่ต้องได้รับตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชี
    2.5 ลดภาระของธุรกิจในการจัดเก็บบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีจาก 10 ปี เหลือ 5 ปีและในกรณีจำเป็น อธิบดีโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี
           ขยายระยะเวลาจัดเก็บได้แต่ต้องไม่เกิน 7 ปี
    2.6 ปรับปรุงข้อกำหนดต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับระบบการจัดทำบัญชีด้วยคอมพิวเตอร์ เช่น การเก็บรักษาบัญชีการลง รายการในบัญชี เป็นต้น
    2.7 ปรับปรุงบทกำหนดโทษให้เหมาะสม ครอบคลุมถึงผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ผู้ทำบัญชี และ ผู้ที่เกี่ยวข้องและให้ อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจ
           เปรียบเทียบปรับได้สำหรับความผิดที่มี โทษปรับเพียงอย่างเดียว หรือมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน เพื่อลดขั้นตอนปฏิบัติและสะดวกต่อ ผู้ประกอบธุรกิจ
    2.8 กำหนดบทเฉพาะกาล ยกเว้นให้ผู้ที่ประกอบอาชีพเป็นผู้ทำบัญชีอยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่มีคุณสมบัติตามที่อธิบดี กำหนด สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้
           หากได้ประกอบอาชีพอยู่ก่อนแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปโดยให้แจ้งต่อ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พร้อมทั้งเข้าอบรมและสำเร็จการอบรมตามหลักเกณฑ์และ
           ระยะเวลาที่กำหนดก็จะสามารถ ทำบัญชีต่อไปได้อีก 8 ปี นับตั้งแต่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ

3. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
    3.1 ทำให้คุณภาพของการจัดทำบัญชีของภาคธุรกิจมีมาตรฐานยิ่งขึ้น มีการเปิดเผยข้อมูล อย่างเพียงพอ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจการค้าของประเทศ
           โดยรวมและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ข้อมูลงบการเงิน
    3.2 เป็นการยกมาตรฐานของนักบัญชีและให้นักบัญชีเข้ามามีส่วนรับผิดชอบในการจัดทำบัญชีให้ถูกต้อง
    3.3 เป็นการลดภาระของภาคเอกชนลง และสอดคล้องกับระบบการจัดทำบัญชีของภาคธุรกิจ ที่พัฒนาไปตามความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

4. วิธีดำเนินการในการกำหนดหลักเกณฑ์ปฏิบัติต่าง ๆ
    โดยที่ พ.ร.บ. การบัญชี พ.ศ. 2543 มีบทบัญญัติหลายมาตราที่มอบอำนาจให้รัฐมนตรีหรือ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไปออกกฎกระทรวง
หรือประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆ อาทิ มาตรา 7, มาตรา 8, มาตรา 11, มาตรา 14 และมาตรา 40 เป็นต้น ในทางปฏิบัติการ
กำหนดหลักเกณฑ์ ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีดังกล่าว กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มีการหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องและ
สถาบันวิชาชีพบัญชี โดยแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นพิจารณาดำเนินการประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผู้แทนจากสถาบันวิชาชีพ
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิทางด้าน บัญชีจากสถาบันการศึกษา เป็นต้น จึงเป็นหลักประกันได้ว่าข้อกำหนดต่าง ๆ
จะเป็นไปโดยรอบคอบ และสอดคล้องกับวิธีปฏิบัติของวิชาชีพ


หน้า  1  2  3